ไขคำตอบ! ล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด?
ไขคำตอบ! ล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองทำไมถึงหลุดได้ คาดเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel) โดย 1 โบกี้มี 8 ล้อ เป็นล้อรับน้ำหนัก 2 ล้อ เพลาเดี่ยวล้อประคอง 6 ล้อทำหน้าที่คร่อม และประคองให้ตู้โดยสารเคลื่อนที่ไปตามคานทางวิ่ง
กรณีเกิดเหตุล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด กระแทกรถแท็กซี่ บนถนนเทพารักษ์ จ.สมุทรปราการ ไม่มีผู้บาดเจ็บ เหตุการณ์เกิดขึ้นช่วงค่ำวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุทันทีหลังทราบข่าว ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าน่าจะเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel) ส่วนหาสาเหตุที่แท้จริงต้องรอผลการพิสูจน์หลักฐาน และการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป
ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลกับประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ห่วงใยประชาชนเรื่องความปลอดภัย เพราะช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้ง วันนี้ (3 ม.ค.) เรียกผู้ประกอบการเข้าชี้แจง
อ่านข่าว EBM คาดเหตุเบ้าลูกปืนล้อแตก ทำล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหล่น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหลุด
เร่งหาสาเหตุล้อหลุดเพิ่งเปิดวิ่ง 5 เดือน
ด้านนายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและรถไฟฟ้าสายสีชมพูใช้ระบบโมโนเร็ว ที่เป็นล้อยาง มี 4 ตู้ วิ่งอยู่บนทางปูนเรียกว่าเป็นรถรางเดี่ยว ลักษณะคล้ายรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่เกิดเหตุลางขับเคลื่อนร่วงหล่นลงมาในพื้นที่ปากเกร็ดก่อนหน้านี้ จะมีล้อยางรับน้ำหนักจะต่างกับ BTS ที่วิ่งอยู่บนรางเหล็ก
โดยล้อยางที่ใช้สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเหลืองนี้ ยืนยันว่าเป็นมาตรฐานโลก และมีการใช้งานกันอยู่หลายประเทศ
ส่วนวงรอบการดูแลตรวจสภาพรถไฟฟ้าได้รับจ้างทางบริษัทคู่สัญญาเข้ามาดูแลซึ่งมีวงรอบในการตรวจสอบเดือนละครั้ง ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นต้องไปดูรายละเอียดอีกครั้งว่าเกิดจากอะไร แต่จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าล้อหลุดออกมาจากลูกปืน
นายสุมิตร ระบุอีกว่า ล้อยางดังกล่าวนี้ มีปัจจัยอุณหภูมิเข้ามาเกี่ยวข้อง และข้างในล้อใช้ไนโตรเจนเปรียบเสมือนลมล้อรถ โดยปกติสำหรับล้อรถจะมีเซอร์เซอร์วัดระดับความร้อน หากอุณหภูมิสูงจะมีการเตือนไปที่คนขับ และให้หยุดขบวนรถในสถานีต่อไปทันที
ส่วนสาเหตุครั้งนี้ จะเกี่ยวข้องกับความร้อนหรือไม่นั้น ต้องไปตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้งว่าสาเหตุมาจากอะไร เพราะรถไฟเพิ่งใช้งานได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น
สำหรับผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของรถแท็กซี่ ทางพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงเหนือ จะเป็นผู้รวบรวมหลักฐานทางคดี เป็นการเรียกร้องค่าเสียหายสิ่งใหม่ทดแทน จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เบื้องต้นตรวจสอบว่ารถแท็กซี่ได้ทำประกันชั้น 3 เอาไว้ ซึ่งต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาเอง รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดตรวจสอบหาข้อเท็จจริงรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
อ่านข่าว ระทึก! ล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองตกใส่แท็กซี่เสียหาย
คาดล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่หลุดเกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel)
รู้จักล้อรถโมโนเรล-ก่อนหลุด
ข้อมูลจากบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทาน รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ระบุว่า ระบบขนส่งมวลชนสายสีเหลือง เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Straddle Monorail)
มีลักษณะเป็นโครงสร้างยกระดับตลอดแนวเส้นทาง มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตลาดพร้าว และจ.สมุทรปราการบุคลากร
แต่ละตู้โดยสารประกอบด้วยชุดโบกี้ จำนวน 2 ชุด โดยแต่ละชุดโบกี้มีล้อรับน้ำหนัก 2 ล้อ เพลาเดี่ยว ล้อประคอง 6 ล้อ ทำหน้าที่คร่อม และประคองให้ตู้โดยสารเคลื่อนที่ไปตามคานทางวิ่งตลอดสายทาง
ระบบขับเคลื่อนประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าแบบขั้วแม่เหล็กถาวรต่อเข้ากับชุดเฟืองเกียร์ที่ติดตั้งบนโครงสร้างโบกี้ เพื่อขับเคลื่อนล้อรับน้ำหนักให้วิ่งไปตามคานทางวิ่ง ซึ่งด้วยการออกแบบชุดโบกี้ดังกล่าว ทำให้ INNOVIA Monorail 300 เป็นรถโมโนเรลที่มีความสูงของพื้นรถต่ำ
แหล่งที่มา Thaipbs